Das Boot ฉายในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2525 ใช้ชื่อว่า อู 96 นรกใต้สมุทร เป็นภาพยนตร์ภาษาเยอรมันที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2524 กำกับโดยวูล์ฟกัง ปีเตอร์เซน สร้างจากนวนิยายในชื่อเดียวกับภาพยนตร์ ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2520 เขียนโดยโลทาร์-กุนเทอร์ บุชไฮม์ นักข่าวสงครามที่มีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายภาพ และเขียนสารคดีสำหรับใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ บนเรือดำน้ำอู 96 ของเยอรมนี ในยุทธบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
เมื่อเอ่ยถึงหนังเรือดำน้ำ ทุกคนคงจะนึกถึง “ความกดดัน”ที่แทรกอยู่ในฉากแอ็กชั่นของหนังเรือดำน้ำ ถ้าจะให้บรรยายถึงฉากดังกล่าวก็จะเป็นฉากประมาณทหารเรือดำน้ำที่ยืนลุ้น ระทึกกับมาตรวัดการดำน้ำของเรือ ไม่ก็ลุ้นกับการทิ้งระเบิดน้ำลึกของข้าศึก ภายใต้ความเงียบงันของฉาก อาจจะมีเสียงโซน่าร์เป็นระยะๆเพื่อเพิ่มความกดดันให้หนักข้อยิ่งขึ้น ซึ่งฉากเหล่านี้คุณสามารถพบได้ในหนังเรือดำน้ำทุกเรื่อง แต่จะสร้าง “ความกดดัน” ได้สมจริงแค่ไหน ก็ต้องว่ากันเป็นเรื่องๆไป
แต่หนังเรือดำน้ำที่สามารถความกดดันได้ในระดับสุดยอดนั่นคือ หนังเรือดำน้ำสัญชาติเยอรมัน “Das Boot” ของผู้กำกับหนังแอ็กชั่นแถวหน้าของเยอรมันและฮอลลีวู้ด “วูล์ฟกัง ปีเตอร์เซน”
Das Boot เป็นเรื่องราวของชีวิตของกัปตันและลูกเรือในเรือดำน้ำ อู 96 ที่ต้องออกเดินทางเพื่อจัดการกับกองทัพเรือของอังกฤษ ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็สามารถถ่ายทอดวิถีชีวิตของคนในเรือดำน้ำได้อย่างสมจริง จนน่าขนลุก! กล่าวคือ นอกจากหนังจะนำเสนอกิจวัตรประจำวันของเหล่าลูกเรือและกัปตันที่ทำได้อย่างสม จริงแล้ว หนังยังนำเสนอ ความคิด,อคติ,อุดมการณ์ ของแต่ละตัวละครได้อย่างแนบเนียน และทั้งหมดนี้หนังนำเสนอแบบยาวนาน และต่อเนื่องจนคนดูรู้สึกเคยชินกับพฤติกรรมของกัปตันและลูกเรือ จนสามารถทำให้คนดูรู้สึกผูกพันกับตัวละครได้เป็นอย่างดี
ซึ่งความผูกพันกับตัวละครดังกล่าวก็ส่งผลอย่างมากกับฉากแอ็กชั่นของหนัง กล่าวคือ เมื่อถึงเวลาที่ตัวละครตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย คนดูก็จะสามารถรู้สึกลุ้นระทึกและเอาใจช่วยตัวละครได้มากเลยทีเดียว และจุดเด่นอีกอย่างของหนังเรื่องนี้ก็คือฉาก “ความกดดัน” ของหนังเรือดำน้ำที่หนังเรื่องนี้สามารถทำได้ในระดับดีเยี่ยม กล่าวคือ หนังมีฉากแอ็กชั่นกดดันในแบบ “ถึงลูกถึงคน” ผู้กำกับได้ใส่สถานการณ์ที่เลวร้ายสุดขีด โดยเฉพาะในฉากแอ็กชั่นในช่วงท้ายของเรื่อง ความหวังของตัวละครและคนดูแทบจะริบหรี่เลยทีเดียว
ปีเตอร์เสนได้กลายเป็นที่สนใจในระดับนานาชาติเมื่อปี 1981 ในฐานะผู้กำกับฯ แห่งหนังระทึกขวัญเหนือคำบรรยายเกี่ยวกับเรื่องราวใต้น้ำ - Das Boot และจากผลงานเรื่องนี้ทำให้ปีเตอร์เสนได้เข้าชิงสองรางวัลตุ๊กตาทองของ Motion Picture Academy ในสาขา Best Director และ Best Screenwriter ทำให้เขากลายเป็นผู้เข้าชิงรางวัล Best Director คนแรกที่ได้รับเกียรตินี้สำหรับงานภาพยนตร์ภาษาเยอรมัน เรื่อง Das Boot ได้เข้าชิงถึงหกรางวัลตุ๊กตาทอง และกลายเป็นภาพยนตร์ต่างประเทศที่ทำรายได้สูงสุด เท่าที่เคยออกฉายในสหรัฐอเมริกาจนถึงขณะนั้น
|